บริการสืบค้น

Custom Search

กำแพงเมืองคูเมือง

เดิมเป็นกำแพงดินเช่นเดียวกับกำแพงเมืองสุโขทัย คาดว่าสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเพื่อเตรียมรับศึกพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ได้โปรดให้ซ่อมแซมกำแพงเมืองอีกครั้งเพื่อเตรียมรับศึกพม่า ครั้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้โปรดให้ช่างฝรั่งเศสสร้างกำแพงใหม่โดยก่ออิฐให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดให้รื้อกำแพงเมืองและป้อมต่างๆ เสีย เพื่อไม่ให้พม่าซึ่งรุกรานไทยยึดเป็นที่มั่น กำแพงเมืองที่เห็นได้ชัดเจนในขณะนี้คือ บริเวณวัดโพธิญาณ วัดน้อย และบริเวณสถานีตำรวจภูธรจังหวัดพิษณุโลก สำหรับคูเมือง พบเห็นได้ตามแนวที่ขนานกับถนนพระร่วง (หลังสถาบันราชภัฏพิบูลสงคราม)

ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ในปี พ.ศ.2537 กรมศิลปากรประกาศจึงขึ้นทะเบียนโบราณสถาน พระราชวังจันทน์ และประกาศขอบเขตที่ดินโบราณสถานตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาจำนวนพื้นที่ 128 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ซึ่งสภาพของพระราชวังจันทน์จะเหลือเพียงซากกำแพงเมืองเท่านั้น ต่อมาในปี 2545 ได้มีการบูรณะพระราชวังจันทน์ โดยย้ายโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมและบ้านเรือนของราษฎรออกจากบริเวณนั้น เพื่อทำการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ในเขตพระราชวัง โดยก่อตั้งศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นในจุดที่เป็นพระที่นั่งเดิมของเขตพระราชวังจันทน์ในอดีต



ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ซึ่งเป็นพระราชวังจันทน์มาก่อนในอดีต ตัวศาลเป็นศาลาทรงไทยโบราณตรีมุข พระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีขนาดเท่าองค์จริง ประทับนั่ง พระหัตถ์ทรงพระสุวรรณภิงคารหลั่งน้ำในพระอิริยาบถประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง สร้างโดยกรมศิลปากร เสร็จเมื่อปี
พ.ศ. 2404 มีการจัดงานสักการะพระบรมรูปในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี

เมื่อเดือนมีนาคม 2535 กรมศิลปากรได้ขุดค้นพบแนวเขตพระราชฐานพระราชวังจันทน์ ซึ่งเป็นสถานที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งนับว่าเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของจังหวัด ในปัจจุบันกรมศิลปากรได้กลบหลุมขุดเพื่อเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานไว้ จนกว่าจะได้มีการขุดค้นอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

หอศิลปและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยนเรศวร

ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์วิทยบริการ มหาวิทยาลัยนเรศวร (ส่วนสนามบิน) ถนนสนามบิน อำเภอเมือง จัดตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภายในจัดแสดงผลงานศิลปกว่าร้อยชิ้นของศิลปินที่มีชื่อเสียงของไทย อาทิ สวัสดิ์ ตันติสุข พูน เกษจำรัส ประยูร อุลุชาฎะ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ประเทือง เอมเจริญ และชวลิต เสริมปรุงสุข เป็นต้น และยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับ วิถีชุมชนภาคเหนือตอนล่าง จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องมือทำมาหากินต่างๆ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด ระหว่างเวลา 9.00 – 18.00 น. โทร. 0 5523 0720